ทำธุรกรรมออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย

| ก้าวทันภัยไซเบอร์

     หลังจากที่เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การโอนเงิน หรือจ่ายเงินเพื่อชําระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ก็ช่างง่ายดายแถมยังสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย เรียกได้ว่าซื้อง่าย จ่ายคล่อง โอนไว ใช่เลย ชีวิตดี๊ดี แต่ความดี๊ดีนี้ก็อาจจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เงินในบัญชีจะหายไปโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน ดังนั้น การทําธุรกรรมออนไลน์จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สําคัญและควรรู้ หลายสิ่งที่ต้องทําและหลายสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพที่นับวันยิ่งพัฒนาไปไกล จนมีเหยื่อหรือผู้เสียหายจํานวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการทําธุรกรรมออนไลน์ของเรานั้นปลอดภัยจริง ๆ มาดูกันว่าเราต้องทําอะไรบ้าง

1. ต้องทำธุรกรรมออนไลน์ด้วยตัวเองเท่านั้น

     อย่าไว้ใจฝากโทรศัพท์มือถือหรือให้ใครทำธุรกรรมแทนเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ใครมาสวมรอยแล้วเอาเงินในบัญชีของเราไปใช้ฟรี ๆ ข้อนี้สำคัญที่สุด

2. เลือกร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

  • เลือกร้านที่มีการแสดงข้อมูลตัวตนที่สามารถตรวจสอบหรือมีการการันตี เช่น เพจร้านค้ามีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หรือขึ้นว่าเป็นร้าน Official Store แอปพลิเคชันชอปปิงชั้นนำ
  • มีช่องทางการติดต่อเป็นหลักแหล่งน่าเชื่อถือ เช่น มีเบอร์โทรศัพท์ LINE OA หรือเว็บไซต์
  • เมื่อพูดคุย ต้องสามารถโต้ตอบได้อย่างชัดเจน ภาษาที่ใช้ถูกต้อง ไม่ใช้ภาษาเหมือนแชทบอท 
  • อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบอื่นๆ อย่างเช่น การอ่านรีวิวหรือดูรีวิวที่มีภาพ/วิดีโอ ระยะเวลาในการตอบคำถามลูกค้า ระยะเวลาในการส่งของถึงมือลูกค้า การรับมือหรือรับผิดชอบเมื่อสินค้าเสียหาย ทั้งหลายเหล่านี้ก็นับเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องคำนึงถึงก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้าจากร้านนั้นๆ

3. หลีกเลี่ยงการผูกบัตรเดบิต/บัตรเครดิตกับแอปพลิเคชันต่างๆ

     หลีกเลี่ยงการผูกบัตรเดบิต/บัตรเครดิตกับร้านค้าออนไลน์หรือ Platform ที่ไม่มีการยืนยันตัวตนด้วย OTP (One Time Password) หรือรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว เพราะจะทำให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องโหว่ในการทำธุรกรรมแทนเราได้

4. ไม่ส่งต่อ OTP ให้กับบุคคลอื่น

     เพราะรหัส OTP นี้ถือเป็นประตูสำคัญ การส่ง OTP ให้คนอื่น เปรียบได้กับการที่เรายื่นกุญแจให้คนร้ายไขประตูเข้ามาขโมยเงิน ในบ้านเราได้อย่างง่ายดาย

5. ปรับวงเงินสูงสุดสำหรับการชำระค่าสินค้าทางออนไลน์ให้เหมาะสม

     โดยตั้งค่าในจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก ในระดับที่เรารับได้หากเกิดความเสียหายขึ้น หรือสามารถตั้งวงเงินเป็น 0 บาท เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายในช่วงนั้น

6. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญทางการเงินแก่ผู้อื่น

     และไม่โพสต์โชว์ทางโซเชียลมีเดีย เช่น หมายเลขบัตรเดบิต/บัตรเครดิต เลขหลังบัตรเครดิตหรือ CVV เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรประชาชน เป็นต้น และหากมีบุคคลใดอ้างเป็นธนาคารติดต่อมาขอข้อมูลดังกล่าว เราต้องไม่ให้เด็ดขาด เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายติดต่อลูกค้าเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ

7. ตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา และไม่ใช้รหัสเดียวกันทุกระบบ

     เพราะถ้ามิจฉาชีพขโมยรหัสผ่านเราได้จากที่หนึ่งแล้ว จะสามารถนำไปใช้ในระบบอื่นๆ ที่เป็นรหัสเดียวกันได้หมดจนเกิดความเสียหายในที่สุด

8. ติดตามข่าวสารเรื่องภัยออนไลน์เป็นประจำ

     เพื่อให้รู้ทันกลโกงต่างๆ ของเหล่ามิจฉาชีพ รู้วิธีสังเกต และสามารถป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากภัยออนไลน์ได้

9. ตั้งการแจ้งเตือนรายการบัญชีเงินเข้า-ออก

     ลูกค้า LINE BK สามารถตั้งแจ้งเตือนรายการบัญชีเงินเข้า-ออกได้ ผ่าน LINE BK Alerts และหมั่นสังเกตอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงยอดค่าใช้จ่ายที่แจ้งเตือนมานั้นว่าเป็นของเราหรือไม่ หากพบรายการผิดปกติ เราจะได้ติดต่อ LINE BK ได้ทันท่วงที

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย

ย้อนกลับ

Related Blog

Smart saving

กลโกงต้องระวัง มิจฉาชีพส่ง SMS ปลอมเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ

เมื่อเหล่ามิจฉาชีพอาศัยใช้ช่องโหว่ของ SMS แอบอ้างเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่หลงเชื่อ มาเรียนรู้วิธีสังเกต ตรวจสอบ รวมถึงการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

| ก้าวทันภัยไซเบอร์

LINE Chat

Go to Top