กลโกงต้องระวัง มิจฉาชีพส่ง SMS ปลอมเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ

| ก้าวทันภัยไซเบอร์

เมื่อเหล่ามิจฉาชีพอาศัยใช้ช่องโหว่ของ SMS แอบอ้างเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่หลงเชื่อ มาเรียนรู้วิธีสังเกต ตรวจสอบ รวมถึงการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

กลวิธีของมิจฉาชีพในการส่ง SMS ปลอมเป็นธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ 

  • ใช้ชื่อ SMS เดียวกัน และส่งแทรกเข้าในกล่องข้อความจริงของธนาคาร หรือหน่วยงานต่างๆ
  • ใน SMS มีลิงก์ปลอมแนบมาให้คลิก เพื่อหลอกให้ดาวน์โหลดแอป หรือหลอกให้แอด LINE ปลอม 

เป้าหมายหลักคือ

  • หลอกให้โอนเงิน: มิจฉาชีพอาจสร้างเว็บไซต์ปลอมเลียนแบบเว็บไซต์ธนาคารหรือหน่วยงานจริง หลอกให้ผู้ใช้กรอกข้อมูลบัญชีและรหัสผ่าน หรือสร้างลิงก์ปลอมเพื่อนำไปสู่การโอนเงิน
  • หลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว: มิจฉาชีพอาจขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน ข้อมูลบัญชีธนาคาร หรือ OTP เพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
  • ติดตั้งมัลแวร์: ลิงก์ใน SMS ของมิจฉาชีพอาจติดตั้งมัลแวร์บนอุปกรณ์ของผู้ใช้ มัลแวร์เหล่านี้สามารถขโมยข้อมูลส่วนตัว ดักจับข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินและบัตรเครดิต หรือควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล

ทำไม SMS ปลอม ถึงมาอยู่ในกล่อง SMS เดียวกับของธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ

  • มิจฉาชีพใช้เสาสัญญาณเถื่อน (False Base Station หรือ FBS) เพื่อส่ง SMS ปลอมแทรกเข้าไปในกล่องข้อความจริงของธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ
  • SMS ปลอมที่ส่งมา ไม่ได้ถูกส่งผ่านเครือข่ายสัญญาณของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และไม่ผ่านระบบ SMS ของธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ

วิธีป้องกันตัวจาก SMS ปลอม

  • อย่าคลิกลิงก์: ไม่ควรคลิกลิงก์ที่มาจาก SMS ที่ไม่รู้จัก
  • ตรวจสอบข้อมูล: ตรวจสอบข้อมูลกับธนาคารหรือหน่วยงานที่อ้างว่าเป็นเจ้าของ SMS นั้นๆ โดยติดต่อผ่านช่องทางปกติ เช่น เว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ หรือติดต่อโดยตรง

    สำหรับลูกค้า LINE BK ณ ปัจจุบัน ทาง LINE BK ยังมีการส่ง SMS ที่มีลิงก์ให้กับทางลูกค้า เฉพาะกรณีที่ลูกค้ามีการติดต่อมาเท่านั้น โดยลูกค้าจะต้องมีผลิตภัณฑ์วงเงินให้ยืม/ วงเงินให้ยืมนาโนอยู่ และกำหนดเฉพาะรายการดังนี้เท่านั้น

    1. การขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการคำนวณรายได้สำหรับการอนุมัติสินเชื่อ
    2. การส่งเอกสารเกี่ยวกับการสมัครสินเชื่อ
    3. การส่งเอกสารทางการเกี่ยวกับสินเชื่อ
    4. การเพิ่มหรือลดวงเงินสินเชื่อ
    5. การต่ออายุหรือยกเลิกวงเงินสินเชื่อ
    6. การปิดบัญชีสินเชื่อ
    7. การแจ้งปรับปรุงข้อตกลงและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้สินเชื่อ
    8. การส่งข้อเสนอโปรแกรมช่วยเหลือลูกค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ
    9. การแจ้งขออัปเดตข้อมูลการติดต่อและที่อยู่เพื่อการติดต่อของลูกค้า

    หากได้รับ SMS นอกเหนือจากรายการด้านบน หรือไม่แน่ใจว่าเป็น SMS จาก LINE BK จริงหรือไม่ สามารถดูรายละเอียดวิธีการสังเกตเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือติดต่อ LINE BK Call Center โทร 02-055-5555 หรือ LINE BK Official Account โดยการพิมพ์ @linebk

  • แจ้งธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงิน: แจ้งธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินที่คุณใช้บริการ หากสงสัยว่า SMS นั้นเป็น SMS ปลอม

พลาดท่า โดนหลอกแล้ว! ทำยังไงดี?

  • ถ้าเอะใจว่าอาจจะเจอมิจฉาชีพบอก ควรหยุดคุยแล้วบล็อคการสื่อสาร
  • สามารถโทรแจ้งธนาคารต้นทาง (บัญชีที่เงินโอนออก) โดยลูกค้า LINE BK ติดต่อ LINE BK Call Center ได้ที่ 02-055-5555 กด 11 เพื่ออายัด และรอรับเลขที่เคส (Bank Case ID) จาก LINE BK ผ่านทาง SMS
  • แจ้งตำรวจอย่างรวดเร็ว โดยแจ้งเลขที่เคสที่ได้รับจากธนาคาร พร้อมหลักฐาน ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (โอนเงินที่ไหน ให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น)

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย และ ตำรวจภูธรภาค 9

ย้อนกลับ

LINE Chat

Go to Top